Home FINANCE เลขาธิการ กบข. เปิดวิสัยทัศน์Freedom for Living ให้สมาชิกเกษียณมีสุข วางฐานบริหารกองทุน พร้อมผลักดัน กบข. เป็นกองทุนที่มั่นคง
FINANCE

เลขาธิการ กบข. เปิดวิสัยทัศน์Freedom for Living ให้สมาชิกเกษียณมีสุข วางฐานบริหารกองทุน พร้อมผลักดัน กบข. เป็นกองทุนที่มั่นคง

“ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์” เลขาธิการ กบข. พร้อมขับเคลื่อนกองทุนให้มั่นคง หวังสร้างผลตอบแทนที่ดีให้สมาชิก เพื่อให้สมาชิกมี “Freedom for Living”เกษียณมีสุข ไร้ความกังวล ภารกิจแรกทบทวนความเพียงพอของเงินเกษียณ และศึกษาทางเลือกรับผลตอบแทน วางรากฐานการบริหารกองทุนให้มั่นคง

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข. ได้กำหนดแผนงานวางรากฐานการบริหารกองทุน ในการขับเคลื่อน กบข. ให้เป็นกองทุนที่มีความมั่นคง สร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีในระยะยาว มากกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 ปี บวก 2% ต่อปี และเพิ่มระดับความไว้วางใจของสมาชิกที่มีต่อ กบข. เพื่อให้สมาชิกมุ่งสู่การมี “Freedom for Living เกษียณมีสุข” 

โดยภารกิจแรกที่จะดำเนินงาน คือ การทบทวนความเพียงพอของเงิน ณ วันเกษียณ โดยเพิ่มตัวแปรหนี้สิน การมีอายุยืนยาวของคนไทย และระดับความเพียงพอของสมาชิกแต่ละกลุ่มอาชีพเข้ามาศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ระดับความเพียงพอมีค่าเป็นปัจจุบันมากที่สุด และนำผลศึกษามาปรับปรุงแผนการจัดสรรการลงทุนของ กบข.

ภารกิจที่สอง คือ การศึกษาเพิ่มทางเลือกในการรับผลตอบแทนรูปแบบอื่นให้กับสมาชิก โดยทางเลือกในการรับผลตอบแทนรูปแบบอื่นออกแบบสำหรับส่วนเพิ่มเงินออมที่สมาชิกเพิ่มเติมจากภาคบังคับ เนื่องจากความต้องการของสมาชิกในการออมเพิ่มนั้นอาจมีลักษณะผลตอบแทน อาทิ ต้องการรับเงินปันผลระหว่างทาง ต้องการทางเลือกในการออมเพิ่มเติม และอาจรวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น สิทธิ์ในการใช้บริการ Retirement Home & Careเป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ และอาจต้องมีการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ นอกจากนี้ เนื่องด้วยการเพิ่มขึ้นของกลุ่มประชากรสูงวัย (Aging Society) จะมีส่วนในการปรับปรุงการลงทุนในอนาคตด้วย  

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 กบข. สามารถสร้างผลตอบแทนแผนหลักได้ 1.46% (หลังหักค่าใช้จ่าย) โดยได้รับผลดีจากการลงทุนทั้งในและต่างประเทศในตราสารหลากหลายประเภท และการจัดการติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิด

ส่วนปี 2567 นี้ มีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนในระยะสั้นได้ทันการณ์ ทั้งสงครามตะวันออกกลาง ความขัดแย้งอิสราเอล-อิหร่าน และความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ผลการเลือกตั้งและแนวนโยบายในหลายประเทศ โดยเฉพาะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ และแนวนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยที่คงอยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา จะลดทอนความสามารถในการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง เงินเฟ้อปรับตัวลดลงแบบชะลอตัวและยังคงสูงกว่าเป้าหมายระยะยาวของธนาคารกลาง ส่วนเศรษฐกิจไทย ยังต้องติดตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้มีความเชื่อมั่นในการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และการกดดันด้านเงินเฟ้อลดลง โดยปีนี้มีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าปี 2566 ที่ผ่านมา

Recent Posts

Categories